วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551

การพัฒนาบุคลิกภาพของผู้ให้บริการ



โดย อ.สมิต สัชฌุกร
ทุกคนต่างมีความปรารถนาที่จะเป็นผู้มีความภาคภูมิใจในบุคลิกภาพของตนเอง แต่บางครั้งก็ไม่มีความแน่ใจว่าบุคลิกภาพแบบใดที่น่าพอใจที่สุด และในบางครั้งเราก็แทบจะไม่เข้าใจด้วยซ้ำไปว่า บุคลิกภาพนั้นหมายถึงสิ่งใดกันแน่ บางคนมีความเข้าใจเพียงว่า การแต่งกายดี การมีใบหน้า ท่าทาง และรูปร่างที่ดี เป็นสิ่งแสดงถึงบุคลิกภาพที่น่านิยม เลื่อมใส ศรัทธา ความจริงบุคลิกภาพไม่ได้หมายถึงเพียงรูปร่าง หน้าตา ท่าทางภายนอก แต่รวมไปถึงนิสัยใจคอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏให้เห็นจากภายนอกในทันที
ถ้าเราไม่สามารถวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า บุคลิกภาพคืออะไรแล้ว ก็คงจะไม่ทราบว่า เราจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือเสริมสร้างบุคลิกภาพไปในแนวใด โดยเฉพาะบุคลิกภาพของผู้ให้บริการจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในงานบริการ ความสำเร็จและความล้มเหลวของงานบริการอาจมีสาเหตุมาจากบุคลิกภาพของผู้ให้บริการก็ได้ถ้าจะคิดอย่างกว้าง ๆ ถึงความหมายของคำว่าบุคลิกภาพแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นพฤติกรรมหรือลักษณะเฉพาะประจำตัวของบุคคลหนึ่ง ๆ เกี่ยวกับปฏิกิริยาโต้ตอบกับบุคคลอื่น ๆ ในการปรับตัวให้เหมาะสมต่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่ตัวเอง
ในขั้นต้นนี้เราควรที่จะแยกให้ชัดระหว่างคำสองคำ คือคำว่า บุคลิกภาพ (personality) คือ ผลรวมของพันธุกรรมและประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคล กับคำว่า บุคลิกลักษณะ (trait) อันมีความหมายแคบและเจาะจงไปในด้านลักษณะของบุคคลที่แสดงออกให้ปรากฎเห็นได้ภายนอกอย่างชัดเจน เช่น ลักษณะรูปร่าง หน้าตา สีหน้า กริยาท่าทาง คำพูด น้ำเสียง ที่ปรากฏแก่ผู้พบเห็น
ความสำคัญของบุคลิกภาพต่องานบริการ
บุคลิกภาพ สร้างความรู้สึกต่อผู้พบเห็นว่า ชอบหรือไม่ชอบ หรือเกิดความรู้สึกต่อคน ๆ นั้นอย่างไร เช่น เป็นคนมีเสน่ห์น่าคบหาสมาคมด้วย มีสง่าน่าเกรงขาม หรือกลับเป็นตรงข้ามคือ ไม่น่าคบเสียเลย บุคลิกภาพทำให้คนเกิดความรู้สึกทางใจ ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องใช้ความคิด สติปัญญา หรือการตัดสินใจที่ต้องใช้เหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น
ลักษณะบุคลิกภาพที่ผู้ให้บริการพึงพิจารณา
นักจิตวิทยาแบ่งลักษณะบุคลิกภาพออกเป็นแบบต่าง ๆ เพื่อเลือกอธิบายตามทฤษฎีของตน ที่ใคร่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การแบ่งบุคลิกภาพเพื่อแสดงผลดีผลเสียของแต่ละประเภท ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะดึงดูด ลักษณะเป็นกลาง และลักษณะผลักใส ซึ่งแต่ละลักษณะจะให้ผลในแต่ละสถานการณ์ต่างกันออกไป
ยังมีลักษณะที่กล่าวถึงกันมากในอีกทฤษฎีหนึ่ง แบ่งบุคลิกภาพออกเป็น 2 ประเภท คือ ลักษณะที่เก็บตัว (introvert) และลักษณะที่แสดงตัว (extrovert) และในแต่ละลักษณะมีข้อเสียรวมอยู่ด้วยกัน คนทั่วไปจะมีสองลักษณะผสมกัน แต่บางคนมีลักษณะหนักไปทางด้านเก็บตัว ซึ่งเหมาะสมสำหรับหน้าที่การงานบางอย่าง เช่น เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักบัญชี ฯลฯ พวกที่มีลักษณะแสดงตัวก็เหมาะแก่งานติดต่อกับบุคคลมากหน้าหลายตา เป็นบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด นักธุรกิจ นักการเมือง พนักงานขาย
แท้จริงแต่ละคนมิใช่จะมีลักษณะของบุคลิกภาพตามที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เท่านั้น ยังมีบุคลิกลักษณะอย่างหนึ่งที่โต๊ะอาหาร ในงานสังคม ในห้องประชุม กับญาติ กับเพื่อน กับคนแปลกหน้า จะมีการปรับให้เข้ากับภาวการณ์ในขณะนั้น
ผู้ให้บริการควรมีบุคลิกภาพเช่นไร
โดยที่ บุคลิกภาพ เป็นการรวมลักษณะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตัวบุคคลหนึ่ง ๆ อันประกอบด้วยรูปร่าง ลักษณะ อากัปกริยา คำพูด น้ำเสียง การแสดงท่าทาง รวมถึงพฤติกรรมที่แสดงออก อุปนิสัยใจคอ ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ จึงแยกพิจารณาบุคลิกภาพที่ดีได้กว้าง ๆ ดังนี้
1. ส่วนเกี่ยวกับกาย ได้แก่ การมีสุขภาพพลานามัยดี แต่งกายสะอาดและเรียบร้อย กิริยาท่าทางสง่า ท่าทางร่าเริง แจ่มใส ว่องไว แต่ไม่ใช่หลุกหลิกลุกลน
2. เสียงและภาษาที่พูด น้ำเสียงแจ่มใส ชัดเจน ไม่เบาและไม่ดังเกินไป พูดจาฉะฉาน ได้เรื่องได้ราว ไม่เพ้อเจ้อหรือพูดคลุมเครือ ภาษาที่พูดเป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจ ใช้ภาษาเหมาะแก่บุคคลและถูกกาลเทศะ
คุณลักษณะประจำตัวอื่น ๆ เช่น มีความอดทนและอดกลั้นต่อสิ่งภายนอกที่มากระทบจิตใจ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่หวั่นไหว ไม่แสดงออกถึงลักษณะของคนเจ้าอารมณ์ เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็น และฟังข้อขัดแย้งของผู้อื่นด้วยอารมณ์ปกติ เข้าใจอะไรได้รวดเร็ว เป็นผู้มีวิจารณญาณไตร่ตรอง สุขุมคัมภีรภาพ สามารถเข้าใจอะไรได้ถูกต้อง ตัดสินใจได้เร็วและเหมาะสม วินิจฉัยปัญหาถูกต้องตามที่ควรจะเป็น
บุคลิกภาพที่ไม่ดี ซึ่งเป็นสิ่งควรระวัง ได้แก่ ขาดความคิดริเริ่ม เฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง ขาดความสังเกต ขาดความรับผิดชอบ ขาดความระมัดระวัง ขาดความสามารถในการทำงาน ขาดการปรับปรุงตัว
ผู้ให้บริการควรปรับปรุงบุคลิกภาพอย่างไร
ทุกคนควรสำรวจว่าตนเองมีบุคลิกภาพในลักษณะใด เหมาะสมในการงานและการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมหรือไม่ ต่อจากนั้นอาจวางแนวทางปรับปรุงบุคลิกภาพ ทั้งนี้คงจะต้องใช้เวลาประกอบด้วยความพยายามและความมั่นคง
การปรับปรุงในเบื้องต้นไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร เพียงแต่ระมัดระวังรักษาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็จะเป็นเหตุส่งเสริมแก้ไขดัดแปลงบุคลิกภาพให้ดีขึ้น คนทั่วไปยอมรับมาตรฐานของสังคมในเรื่องความสะอาดทั้งร่างกายและเครื่องแต่งกาย การมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย พูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ ได้เรื่องได้ราว ไม่พูดหยาบเพ้อเจ้อ ท่าทางเข็มแข็ง แคล่วคล่อง สง่าผ่าเผย อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ควบคุมอารมณ์ได้ดี มีทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและสถาบัน นับแต่ครอบครัวจนถึงสังคมภายนอก หากวางแนวทางไว้เช่นนี้ก็จะก้าวไปได้เรื่อย ๆ ไม่หลงทาง
วิธีปรับปรุงแก้ไขให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น โดยการพิจารณาการปฏิบัติตนให้เป็นคนใจกว้าง ให้ความร่วมมือกับผู้อื่น เป็นตัวของตัวเอง แสวงหาคำแนะนำ กระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องด้วยความตั้งใจและไม่ย่อท้อ ตรวจสอบผลความก้าวหน้าของตนเองอยู่เสมอ
การเสริมสร้างบุคลิกภาพ
1. การมอง สายตาสามารถบอกถึงความรัก ความเกลียดชัง ความเมตตาปรานี ความโกรธแค้น ความเคารพนับถือ หรือความเหยียดหยาม ดูหมิ่นดูแคลน ฉะนั้น เมื่อเรามองใคร เราจะต้องพยายามใช้สายตาด้วยความสุภาพเรียบร้อย ระวังในการใช้สายตาอย่าให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิดได้
2. การแต่งกาย ต้องคำนึงถึงความสะอาดเรียบร้อย ถูกต้องและเหมาะสมกับกาลเทศะ แต่งกายให้พอดี อย่าให้มากเกินไปจนกลายเป็นน่าเกลียด
3. การพูด ต้องมีศิลปะในการพูด พูดให้ชนะใจผู้ฟัง โดยจะต้องใช้คำพูดที่มีเหตุผล สุภาพ ไพเราะ และใช้คำพูดที่เหมาะสมกับผู้ฟัง (โดยคำนึงถึงวัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ และความสนใจพิเศษของผู้ฟัง) สถานที่ เวลา และโอกาส
4. การเดิน ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเสียงดังจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เป็นที่รบกวนผู้อื่น ต้องเดินให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง เดินให้มีท่าทางสง่าและเรียบร้อย ไม่เดินผ่ากลางผู้อื่นที่ยืนสนทนากันอยู่
5. การแสดงท่าทาง ต้องระวังท่าทางที่ไม่สวยงาม เวลาพูดหรือทำอะไรก็ตาม อย่ามีการแสดงท่าประกอบมากเกินไปจนน่าเกลียด หรือแสดงท่าที่ไม่สุภาพ
6. ทักษะในการทำงาน ในการทำงานใด ๆ ก็ตามจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ต้องทำด้วยท่าทางคล่องแคล่ว ด้วยความชำนาญ และให้ได้ผลงานดีเด่น
7. สุขภาพ ต้องระวังสุขภาพให้ดี อย่าให้มีโรค ระวังรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

วิธีลดความเครียดและสร้างความสุขสดชื่น

ในปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้ยอมรับแล้วว่า ความเครียดมีผลด้านลบต่อชีวิตคนเราในหลาย ๆ ด้าน ความเครียดสามารถส่งผลถึงจิตใจ และสามารถแสดงออกมาทางร่างกายได้ในหลาย ๆ รูปแบบ เช่น ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ปวดท้อง อ่อนเพลีย เป็นโรคกระเพาะ โรคความดัน นอน ไม่หลับ เป็นต้น ดังนั้น เรามักจะพบว่าผู้ที่ออกกำลังกายอยู่เสมอ มักจะเป็นผู้ที่มีอารมณ์แจ่มใส เยือกเย็น และมีความ เครียดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือผู้ที่ออกกำลังกายน้อยเกินไป และผู้ที่ออกกำลังกายอยู่เสมอจะ เป็นผู้ที่มีรูปร่างกระชับ มีรูปทรงที่สวยงามแข็งแรง มีความต้านทานโรคต่าง ๆ สูง และมีแรงที่จะทำภารกิจ ต่าง ๆ ในชีวิตได้มาก เมื่อคิดที่จะลดความเครียดเพื่อให้เกิดความสดชื่นกับชีวิต ก็ต้องมีกิจกรรมและวิธีลดความเครียด ที่เรียก กันว่า แอโรบิค ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่คนเรา เพราะแอโรบิคเป็นการออกกำลังกาย ที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วยความเร็วพอประมาณ ในจังหวะที่สม่ำเสมออย่างน้อย 10-15 นาที เช่น การเดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ เต้นรำด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอ เป็นต้น นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิคได้กล่าวไว้ว่าขณะที่ ออกกำลังกายแบบแอโรบิคจะช่วยให้ร่างกายใช้พลังงานสูงขึ้น หัวใจและปอดได้ทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดผล ต่อผู้ออกกำลังกายมากมาย ดังนี้
1. ทำให้สุขภาพทั่วไปแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้น ทำให้มีเรี่ยวแรงต่อสู้กับกิจการงานต่าง ๆ ได้ ไม่เหนื่อยหรือ อ่อนเพลียง่าย
2. ระบบการย่อยอาหารจะดีขึ้น อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยจะหมดไป
3. ขับถ่ายสะดวก ท้องไม่ผูก
4. นอนหลับง่าย และหลับได้สนิทขึ้น
5. ลดความเครียด ความวิตกกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้า หรืออาการประสาท อื่น ๆ
6. ทำให้ไม่อยากดื่มเหล้า เบียร์
7. ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่
8. ลดความอ้วนได้ดีที่สุด
9. ทำให้จิตใจสดชื่น แจ่มใส ปลอดโปร่ง มีอารมณ์เยือกเย็นและมั่นคง
10. มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น
11. สติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น
12. กระดูกจะแข็งแรงขึ้น แม้อายุจะมากขึ้นก็ตาม
13. หัวใจและปอดแข็งแรงขึ้น และเป็นวิธีป้องกันโรคหัวใจได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง และที่สำคัญการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ซึ่งให้ประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจของเราอย่างยิ่งนี้ ไม่ได้ยุ่งยากมากมายอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะเพียงการเดินเร็ว ๆ หรือวิ่งเร็วครั้งละ 2-3 กิโลเมตร ใช้เวลา ประมาณ 10-20 นาที ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคแล้ว การเดินเร็ว ๆ หรือวิ่งเหยาะ ๆ จัดได้ว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ง่าย สะดวก และประหยัด ที่สุด ท่านจะลองใช้วิธีการวิ่งเพื่อสุขภาพจิต เป็นการลดความเครียด เพื่อให้เกิดความสดชื่นในชีวิต โดยวิธีการ ก็คือ 1. เตรียมเสื้อผ้า เครื่องใช้ในการวิ่งแบบสบาย ๆ ตามฐานะ ใช้กางเกงขาสั้นหรือขายาว เสื้อยืด ใส่รองเท้า ผ้าใบหรือรองเท้าวิ่ง ใส่ถุงเท้าตามปกติทั่วไป 2. ควรวิ่งคนเดียว 3. หาสถานที่วิ่งที่ปลอดภัยจากการจราจร 4. คิดว่าเราวิ่งเพื่อสุขภาพจิต เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และจิตใจเบิกบาน ไม่ใช่วิ่งเพื่อจะเป็นแชมเปี้ยน หรือแข่งขันกับใคร 5. ให้เริ่มวิ่งช้า ๆ ประมาณ 200 ก้าว แล้วสลับด้วยการเดิน 50-100 ก้าว แล้วเริ่มวิ่ง 200 ก้าวอีก สลับกับการเดินไปเรื่อย ๆ ห้ามวิ่งนาน ๆ โดยไม่หยุด 6. ถ้าในบางครั้งท่านรู้สึกอยากร้องเพลง ก็ให้ร้องเพลงเบา ๆ เลือกร้องเพลงที่มีเนื้อหาของความสุข ในเวลานั้นสมองของท่านจะเป็นอิสระ ความคิดในการแก้ปัญหาหรือการสร้างสรรค์ที่ดีในชีวิตจะเกิดขึ้น ในช่วงนั้น การวิ่งเพื่อสุขภาพจิตจะทำให้เกิดความเบิกบาน สดชื่น เป็นกิจกรรมที่ง่ายที่สุด กระทำได้เองคนเดียว ไม่ต้องคอยเพื่อน และไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมากมาย เรามาเริ่มต้นการออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว ๆ หรือวิ่งเหยาะ ๆ กัน วันละ 10-20 นาที เพื่อสุขภาพ กายและสุขภาพจิตกันดีกว่า

สาเหตุของความไม่สดชื่น



คนปกติทั่วไปก็มีความเครียดได้ เนื่องจากมนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาในชีวิตต่าง ๆ มากมายและซับซ้อน ตามวัย ฐานะทางสังคม และสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นของแต่ละคน และมนุษย์ก็มักจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการนั้น ครบถ้วน ทำให้เกิดความไม่พอใจและสะสมเอาไว้ แม้ว่าปากจะบอกว่าไม่อยากได้แล้วก็ตาม แต่ในใจก็ยัง อยากได้สิ่งเหล่านั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของความเครียด เช่น อยากให้เขามารักเรา แต่เขาก็ไม่ได้รักเรา แต่ก็ยังอยากให้มารักอยู่ดี นักศึกษาอยากสอบแข่งขันเข้า มหาวิทยาลัยให้ได้ แต่ก็สอบไม่ได้ แต่ก็ยังอยากได้อยู่ดี ปัญหาอื่น ๆ เช่น รถติด เสียงดัง เศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งเราก็อยากจะให้หมดไป แต่ก็ไม่สามารถขจัดได้ บุคคลเหล่านี้เมื่อสะสมความเครียดเอาไว้นาน ๆ อาจมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจต่อไป เช่น
1. ภาวะจิต สรีระแปรปรวน หมายถึง ความเครียดทางจิตใจจะทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายได้ เมื่อเครียดมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ - ปวดหัวข้างเดียว หรือสองข้าง - ปวดท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร - ลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ ถ่ายเป็นเลือด - อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ - โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเส้นเลือดในสมองแตกได้ - โรคภูมิแพ้ ปวดหลัง ปวดคอ ปวดกล้ามเนื้อ - ปวดเมื่อยเรื้อรัง เสื่อสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ
2. ภาวะโรคประสาท ซึ่งจะทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต มีความวิตกกังวล หวาดกลัว โกรธอยู่ตลอดเวลา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลด ไม่มีความสุข
3. โรคจิต เมื่อเครียดมาก ๆ มนุษย์อาจหนีออกจากโลกแห่งความเป็นจริง สร้างโลกของตนเอง คิดเอาเอง พูดเอาเอง กลายเป็นคนโรคจิต คนที่เป็นโรคจิตมักไม่รู้ตัวว่าป่วย แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมักดูอาการออกและนำไปให้แพทย์รักษา โดย ทั่วไปผู้ป่วยไม่ค่อยเต็มใจ ซึ่งผิดกับคนที่เป็นโรคประสาท พวกนี้มักจะมีความทุกข์ใจ อยากหาผู้ช่วยเหลือ และรักษา ลักษณะของคนที่มีความเครียดได้บ่อย ๆ
1. ชอบวางมาดหรือเกร็ง มักจะมีกริยาที่เกร็งอยู่เสมอ ๆ ชอบขมวดคิ้ว ตัวงอ ยืดตัวเกร็ง ไม่ปล่อยตัว ตามสบาย ทำให้ขาดการผ่อนคลายทางจิตและกล้ามเนื้อ
2. พวกที่มีความกลัวอยู่เสมอ เช่น กลัวการถูกคุกคามชีวิต กลัวความตาย กลัวความแก่ กลัวเป็นโรค เรื้อรังที่ไม่หาย เช่น มะเร็ง กลัวภาวะที่ทำให้เจ็บป่วย เช่น มลภาวะเป็นพิษ ความอดอยาก ภัยจากโจรผู้ร้าย หรือภาวะสงคราม กลัวการถูกทอดทิ้ง ความกลัวว่าเขาจะไม่รักเรา กลัวการไม่ยอมรับของสังคม กลัวไม่มี เพื่อน กลัวความเหงา
3. พวกที่มีความอายอยู่มาก ๆ เช่น เวลาหิวแล้วบอกว่าไม่หิว ความอายนี้จะก่อให้เกิดความเก็บกดสูง ฉะนั้น คำพูดที่แสดงออกมามักจะตรงข้ามกับความจริงเสมอ ลักษณะอายที่พบได้บ่อย ๆ คือ หน้าแดง ก้มหน้า ไม่กล้า สบสายตา แอบดู วิ่งหนี เดินหนี ทำเป็นไม่สนใจ ก้าวร้าวตอบ บุคคลเหล่านี้จะมีสัมพันธภาพกับคนอื่นไม่ดี และมักจะเสียโอกาสดี ๆ ของชีวิต
4. พวกคิดมาก กังวล พวกนี้จะมีความอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสูงมากเกินไป หรืออยากมีในสิ่งที่ มีไม่ได้
5. พวกที่วางตัวเป็นผู้ใหญ่มากไป พวกนี้ขาดอารมณ์ขัน เป็นคนจริงจัง ผิดหวังจะเสียใจมากมักจะดูถูก ตัวเองเมื่อไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคได้
6. พวกเอาแต่ได้ เห็นแก่ตัว พวกนี้ต้องการเอาชนะทุกอย่างในชีวิต ไม่ยอมแพ้ ถ้าแพ้จะทนไม่ได้ มักจะ โทษสิ่งแวดล้อม โทษคนรอบข้าง และอาจจะโทษตัวเองในที่สุด เป็นคนใจแคบ เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่ฟัง ความคิดเห็นคนอื่น มุทะลุ ดันทุรัง ดื้อ
7. พวกที่แบ่งเวลาไม่เป็น ชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ชีวิตมักจะชุลมุนวุ่นวาย ลุกลี้ลุกลน ขาดความเป็นระเบียบ เช่น ชอบดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ คุยกับลูก หรือปรึกษางาน ในขณะรับประทานอาหาร
8. พวกที่มีอารมณ์รุนแรง ไม่รู้จักผ่อนคลายอารมณ์ ชอบโกรธ ชอบตำหนิติเตียน ลงโทษคนอื่น
9. มักคิดไปในทางที่ไม่ดี ไม่คิดสร้างสรรค์ บุคคลที่มีลักษณะทั้ง 9 ข้อ จะมีความเครียดอยู่เป็นประจำ และจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นบุคคลที่หา ความสดชื่นในชีวิตได้ยาก

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2551

คิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน




หลาย ๆ คนคิดว่า การที่เราจะให้อะไรคนอื่นนั้นเป็นไปได้ยาก อาจเป็นเพราะว่า 1. มีความเสียดาย 2. เขาไม่ได้เป็นคนดีพอที่เราจะให้ หรือเขายังไม่ได้ให้อะไรเราเลย 3. รู้สึกว่าเราด้อยค่ากว่าเขา ที่เราต้องเป็นฝ่ายให้เขาก่อน ถ้ามัวคิดอยู่อย่างนี้ เราคงไม่ให้อะไรใครง่าย ๆ ลองคิดดูอย่างนี้บ้างเป็นไร การที่เราเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่น ก่อนนั้น แสดงว่า 1. เรามีค่ามากขึ้น ที่เราสามารถ "ให้" คนอื่น ๆ ได้ เช่น ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ หรือให้สิ่งของ เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราพอมีอยู่บ้าง ทำให้ผู้รับเกิดความพอใจ เกิดความพ้นทุกข์ มีความสุข 2. เราใจกว้างมากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น ที่สามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การให้คนอื่นก่อนซึ่งต้อง อาศัยความกล้าและความเข้มแข็งที่จะต้องเอาชนะใจตนเองที่พร้อมจะเป็นผู้รับอยู่แล้ว ฉะนั้น ทุกครั้ง ที่เรา ให้สิ่งของแก่คนอื่น จงชมตัวเองว่า ตัวเราดีขึ้น เก่งขึ้น ใจกล้าขึ้น แล้วคุณจะอยากให้มากขึ้น 3. การให้นั้นอาจจะเป็นการให้วัตถุหรือความช่วยเหลือก็ได้ ให้ดูตามความเหมาะสม เช่น พูดให้กำลังใจ การชมเชย การแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือความเมตตา เป็นการให้ชนิดหนึ่งที่ดีมาก ประโยชน์จากการเป็นผู้ให้นั้นมีมากมาย นอกจากจะทำให้มีมิตรมากขึ้น มีคนรักมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการ กำจัดความอยากได้จากคนอื่น ทำให้ลบความทุกข์จากความอยากได้ที่ไม่สิ้นสุด เป็นการฝึกฝนจิตใจให้ เสียสละ มีความโอบอ้อมอารี การที่จะสอนคนให้รู้จักมีความสุขจากการให้นั้น เหมือนกับเป็นการให้คนพายเรือทวนกระแสน้ำ ดูว่า มันยากยิ่ง แต่เราจะเข้มแข็งมากขึ้น รู้จักต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตได้อย่างดียิ่งขึ้น เมื่อได้มีการฝึกการให้ อย่างสม่ำเสมอ จิตใจจะมีพลังมากขึ้น เมื่อเราฝึกการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ลักษณะของคนที่จะเป็น "ผู้ให้" ที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้ คือ 1. มีความรักมนุษย์ เกิดเป็นคนใช่ว่าจะรักมนุษย์เสมอไป บางคนจะรักสัตว์มากกว่ามนุษย์เขาจะพูดจา กับสัตว์ได้ดีกว่าพูดกับมนุษย์ด้วยกันเสียอีก บางคนรักต้นไม้ ก็จะปลูกต้นไม้งาม บางคนรัก เครื่องยนต์ ชอบแก้เครื่องยนต์ ชอบดูแลทำความสะอาดรถยนต์มากกว่าสนใจเรื่องอื่นก็มี บางคนรักตัวเลข และเงินทอง ก็มีความห่วงใยตัวเลขและเงินทองในธนาคารมากกว่าสนใจคนอื่น เราจะรักอะไรมากกว่ามนุษย์ก็ตาม เราจะต้องฝืนใจ หันมาสนใจและรักมนุษย์ให้มากกว่าเดิม ไม่เช่นนั้น เราจะให้อะไรแก่มนุษย์คนอื่นได้ยากมาก 2. ต้องมีสัญชาตญาณของความเป็นพ่อแม่ แม้ว่าคุณจะไม่เคยแต่งงานหรือไม่เคยมีลูกเลย คุณก็พร้อม ที่จะรักคนอื่น พร้อมจะให้อภัยและเมตตา เสมือนพ่อแม่รัก อภัย เมตตา ลูก ๆ นั่นเอง 3. ต้องลดการถือตัวลงบ้าง อย่าคิดว่าตนเองดีวิเศษอยู่คนเดียว ถ้าคิดเช่นนี้คุณจะให้สิ่งของแก่ใคร ไม่เป็น 4. รู้จักอภัยและมีอารมณ์ขันบ้าง อย่าจับผิดคนอื่น จงมองความผิดพลาดและความไม่รู้ของคนอื่น ด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และมีอารมณ์ขันปนบ้าง แล้วจะได้มองเห็นความปกติและมีค่าในตัวคนอ่นได้มากขึ้น ไม่จริงจังมากเกินไป จะเป็นเหตุให้คุณไม่ยอมให้อะไรแก่ใคร ง่าย ๆ ฉะนั้นมนุษย์เราจงสร้างความสุขจาก การรู้จักให้มากกว่าจากการรับเถิด ความคิดที่จะให้มีอยู่ในหัวใจใคร บุคคลนั้นก็คือผู้ทำความดีคนหนึ่ง

คิดมองโลกในแง่ดี




ถ้าคนเราปรารถนาจะได้รับความสุข จงสร้างความรู้สึกให้รักคนอื่น ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ความรู้สึก รักมนุษย์นี้จะทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้น่าอยู่ มีค่า มีความหมาย มีค่าทั้งชีวิตเราและชีวิตเขาทำให้เกิดความปิติ ยินดีที่จะได้ช่วยเหลือกันโดยไม่คิดถึงการได้เปรียบ เสียเปรียบ และจะเกิดความรู้สึกอภัยกันได้ง่ายขึ้น โดย ไม่คำนึงถึงความอยากแก้แค้น หรือโกรธ ถ้าใครทำให้เราไม่ถูกใจ มีเทคนิคบางอย่างที่จะทำให้มนุษย์มีใจกว้างขึ้น รักคนได้มากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงว่า จะต้องรักคนใน อาชีพเดียวกัน วัยเดียวกัน หรือคนที่มีอะไรเหมือน ๆ กัน ซึ่งเราจะต้องเปิดใจให้กว้าง แล้วเราก็จะ สามารถ รับใคร ๆ ก็ได้เข้ามาเป็นเพื่อนของเรา หรือเป็นคนคุ้นเคยกันได้ มนุษย์เราอยากให้คนอื่นยอมรับและถูกสัมผัสทั้งจิตใจและร่างกาย เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าเรามีค่าพอ มี ความหมายพอแก่คนอื่น ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เช่น ในประเทศทางตะวันตก เขาจะมีการจับมือกัน ใช้เป็น สัญลักษณ์ของการทักทาย ยินดี ขณะเดียวกันเขาก็จะจับมือกันแน่นและสั่นมือพร้อม ๆ กัน ถ้า เป็นคนที่ สนิทกันมาก หรืออาจจะใช้อีกมือหนึ่งตบบ่าอีกฝ่ายหนึ่งเบา ๆ ก็ได้ และเขาก็จะมองตาซึ่งกัน และกัน ยิ้มแย้มเข้าหากัน ทักทายกันอย่างดี และเมื่อจะจากกันเขาก็จะจับมือกันอีก ส่วนการไหว้ของคนไทยก็เป็นการให้ความรู้สึกอยากเป็นมิตรด้วยความเหมาะสม สุภาพ และให้เกียรติ กัน ซึ่งจะทำให้เกิดความประทับใจในการคบกันฉันเพื่อได้ เป็นการสร้างความกล้าหาญให้กับตนเอง รู้จัก การสร้างเพื่อน และรู้จักการสร้างงาน และอาจนำไปใช้สร้างงานใหม่ ๆ ได้ดี จงมีความศรัทธาในศาสนา ถ้าได้ศึกษาชีวิตของคนที่ประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นคนไทยและคน ต่างชาติ ก็จะพบว่า บุคคลเหล่านี้จะมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งที่ฝังใจต่อคำสอนของศาสนา และมีความเคารพ นับถือในองค์ศาสดา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ทำให้บุคคลเหล่านั้น มีลักษณะการอ่อนน้อมถ่อมตน มีความ กตัญญูกตเวที มีจริยธรรมคอยควบคุมจิตให้พยายามกระทำสิ่งที่ดีงาม รู้จักสร้างวินัยกับตนเอง มีโอกาส พบปะ บุคคลต่างอาชีพที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน เนื่องจากมีความเชื่อคล้าย ๆ กัน จนกลายเป็นมิตรภาพที่ดีต่อไป นอกเหนือจากนั้น บุคคลเหล่านี้มักจะไม่ค่อยเหงา เพราะจะรู้สึกอบอุ่นใจที่มีศาสนาเป็นเพื่อน ทำให้รู้จักเสีย สละ รู้สึกจิตใจผ่องแผ้วเมื่อได้เสียสละหรือบริจาคทำบุญ สิ่งที่ดีกว่านั้นก็คือ บุคคลเหล่านั้จะได้มีโอกาสระบายความทุกข์ทางใจไปกับกิจกรรมทางศาสนา ทุกศาสนา จะมีการสวดมนต์อ้อนวอน อธิษฐาน หรือสารภาพบาป บนบานศาลกล่าวด้วยวิธีการเช่นนี้ จะทำให้ผู้มีความ ทุกข์ในใจได้มีโอกาสระบายความทุกข์เหล่านั้นออกมา ความทุกข์เหล่านั้นอาจจะเป็นความลับที่เรา บอกใคร ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความผิดทางกฎหมาย ศีลธรรม แต่เราก็สามารถจะขอกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือตัวแทนของศาสนาได้ ในยามทุกข์หรือสุขก็ตาม ท่านลองสวดมนต์ อธิษฐาน และทำตัวให้อยู่ในคำสั่งสอนของศาสนา มีความ เชื่อในศาสนาให้มากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง จิตใจของเราจะได้สัมผัสกับความสุขอย่างไม่คาดคิด มาก่อน คนที่ไม่ศรัทธาในศาสนาใด ๆ เลย มักจะเป็นคนยึดมั่นในตัวเองสูงเกินไป ต่อไปมักจะเป็นคน เศร้าหมอง เก็บกด เหงา หรือก้าวร้าวมาก ๆ จงมีความรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ จิตใจของคนเรานั้นจะแปรเปลี่ยนไปมาอยู่เรื่อย ๆ บางทีก็ดี บางทีก็ไม่ดี เราจึงต้องมีการคอยควบคุม จิตใจ ให้คอยคิดคอยนึกถึงคนอื่นในแง่ดีและปรารถนาดีอยู่เสมอ ฉะนั้น จงหมั่นแสดงความรักและความ ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อื่น ๆ ทุกวัน วันละกี่คนก็ได้ และไม่ต้องนึกว่าจะมีใครมาแสดงความปรารถนาดี กับเราหรือไม่ ถ้าจะมีก็ได้หรือไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องฝึกใจและคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ดีของเราที่เราจะต้อง ปรารถนาดีต่อคนอื่น เมื่อเรามีความปรารถนาดีต่อบุคคลอื่นแล้ว การลงมือช่วยเหลือคนอื่น ๆ จะตามมา ด้วยความสมัครใจ โดยที่เราจะไม่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ หรือทำไปเพราะหวังผลตอบแทน จงฟังดนตรีและเสียงเพลงบ่อย ๆ จะสังเกตได้ว่า กลุ่มหนุ่มสาวและวัยรุ่นนั้นชอบที่จะเปิดเพลงจากเครื่องเสียงดังลั่นบ้าน นั่งฟังไปร้อง เพลงคลอไปด้วย หรือเอามือเคาะโต๊ะเบา ๆ ดูพวกเขาช่างมีความสุขเหลือเกิน ส่วนพวกที่โตเป็นผู้ใหญ่ ทำการทำงานแล้ว โอกาสจะฟังเพลงก็มีน้อย หรือฟังไปเสียดายเวลาทำงานไป หรือบางคนก็ชอบฟังเพลงไปทำงานไปด้วยก็มี แต่แท้จริงแล้ว คนที่ชอบฟังเพลงจะทำให้ชีวิตมีความสุข เสียงเพลงและดนตรีเป็นภาษาสากล คนจะฟังเพลงได้ไพเราะ ต้องมีจินตนาการไปตามเสียงเพลง จิตใจ ของคนที่ชอบเสียงเพลงนั้นจะละเอียดอ่อน รู้จักสร้างจินตนาการที่ดีให้กับชีวิต และเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ กับ ชีวิตได้มากมาย เราควรจะหัดและยึดตัวเองให้มีความคิด มีจินตนาการที่ดีต่อชีวิตและธรรมชาติในขณะ ฟังเพลงไปด้วย แล้วเราจะรู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่ขึ้นมากทีเดียว หากมีใจรื่นรมย์ก็จะทำให้ไม่คิดฟุ้งซ่าน มองดู อะไรดีไปหมด เพราะจะเป็นผู้มองโลกในแง่ดี ชีวิตก็จะมีความสุข คนที่มองโลกในแง่ดี มักจะมีอารมณ์ขันและมีเสียงหัวเราะ บ่อยครั้งที่เราจริงจังกับชีวิตมากเกินไป จนขาดอารมณ์ขัน บางคนไม่เคยหัวเราะเลยเป็นเดือน เป็นปี คนที่มีอารมณ์ขันและมีเสียงหัวเราะนั้นเป็นคนที่มีความสุข อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ คนที่อยู่ใกล้ชิดก็ชอบ เพราะ อยู่ด้วยแล้วมีความสบายใจ การจะมีอารมณ์ขันนั้นต้องมีสติและมีพื้นฐานจิตใจที่ดี อารมณ์ขันที่ดีนั้นควรจะ ประกอบด้วยความสุภาพ เหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่พูดคุยกันแล้ว เขาก็เกิดอารมณ์ขันในตัวเอง หัวเราะต่อ กระซิก น่ารัก พยายามอย่าทำตัวเป็นผู้ใหญ่ตลอดเวลา จะทำให้เครียด จิตใจไม่สดชื่น อีกประการหนึ่งคือ พยายาม อยู่กับคนที่มีสุขภาพจิตดี คนที่มีสุขภาพจิตดีจะมีจิตใจเบิกบาน สดชื่น มองโลกในแง่ดีเสมอ

คิดไม่ดี ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต

มีคนมากมายที่รองานที่ควรทำในวันนั้นไปทำในวันอื่น เช่น ควรจะไปเยี่ยมญาติซึ่งป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ในเช้านี้ ก็บอกกับตนเองว่า บ่าย ๆ ค่อยไปเยี่ยมดีกว่า แทนที่จะอ่านหนังสือที่ควรอ่านเสียวันนี้ ก็บอก ตนเอง ว่า รอไว้อ่านพรุ่งนี้เถอะ ผลสุดท้ายก็คือญาติออกจากโรงพยาบาลแต่ไม่ได้ไปเยี่ยมสักที หนังสือที่ ควรอ่านก็ เลยไม่ได้อ่าน การผัดวันประกันพรุ่งเช่นนี้ ถือเป็นโจรปล้นทั้งเวลาและความสำเร็จของเราเอง ทำให้บรรลุผล สำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะถ้าหากเรามีความกระตือรือร้น เราจะทำงานได้สำเร็จมาก กว่าการรั้งรอไว้ เป็นปกติธรรมดาอย่างหนึ่งที่คนผัดวันประกันพรุ่งนั้น มักจะสำคัญและบอกว่าตนเองมีธุระมากที่สุด ไม่มีเวลาจริง ๆ ข้อที่ร้ายที่สุดก็คือ คนที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งจะเป็นคนที่ขาดการตัดสินใจ มีการตัดสิน ตกลงใจไม่แน่นอน เป็นคนที่ปัดความรับผิดชอบไปให้คนอื่น เป็นคนที่ละเลยต่อการงานที่ควรทำ ซึ่งคนที่ มีนิสัยเช่นนี้จะเป็นผู้ที่ถูกเหยียดหยาม ไม่มีใครยกย่องนับถือเลย บุคคลประเภทนี้นาน ๆ เข้าจะกลายเป็น คนที่ตัดสินใจอะไรไม่เป็น จะเป็นคนที่ปราศจากความสุข ความรื่นรมย์ตลอดชีวิต จะหวาดเกรงต่อการ ตัดสินปัญหาทุกอย่าง ซึ่งชีวิตคนเรานั้นย่อมมีเรื่องที่จะต้องตัดสินตกลงใจร้อยแปดพันประการ บุคคลที่มีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง จะต้องแก้ไขนิสัยตนเองโดยเร็ว เขาจะต้องตื่นขึ้นจากฝันร้าย เขาจะ ต้องถอนตัวออกจากความอ่อนแอ และปลุกใจตนเองให้เกิดความมุ่งหวัง ให้เกิดผลสำเร็จ และมีลักษณะ นิสัยเข้มแข็ง เด็ดขาด และบอกตัวเองอยู่เสมอว่า "เมื่อใดงานผ่านเข้ามา จงทำเสียเดี๋ยวนี้ หรืออย่างช้าที่สุด ก็คือวันนี้" สิ่งหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องพบกับมันอยู่เสมอ ๆ ก็คือ ความอิจฉาริษยา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีปม เหล่านี้เท่ากัน แต่จะมีมากน้อยต่างกันไป ถ้าคนเรามีความคิดอิจฉาริษยากันมาก ๆ ก็มีทุกข์มาก แม้ว่าเราไม่อยากมีกัน แต่เราก็มีกันทุกคน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ลักษณะ วิธีที่จะรักษาหรือทำให้หายก็แสนจะยาก การ อบรมสั่งสอนว่าอย่าอิจฉา ริษยากันเลยนั้นแทบจะไม่ได้ผลเลย แต่อาจมีวิธีบรรเทาได้บ้าง 2 ข้อ ดังนี้ ข้อแรก จงทำตัวสบาย ๆ อยากรู้สึกอะไร ๆ ก็ได้ อยากอิจฉาก็อิจฉาไป นึกเสียว่าเมื่อมีความหิว เราก็ ขวนขวายอะไรกินเสีย ความหิวก็หายไป แล้วก็กลับมาหิวใหม่ได้ ข้อที่สอง จงมีความเพลิดเพลินกับการมีชีวิตอยู่ หาอะไรสนุก ๆ ทำไปเรื่อย ๆ สนใจกิจกรรมต่าง ๆ ของ ชีวิต เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี ดูแลต้นไม้ ดูแลสัตว์เลี้ยง คบหาเพื่อนอาชีพต่าง ๆ พูดคุยทำตัวให้มีความ เพลิดเพลิน ถึงคุณจะมีความอิจฉาริษยามันก็จะเลือน ๆ ลงไปบ้าง การที่คนคิดไม่ดี คิดร้ายกับคนอื่น มีตัวอย่างอีกมากมาย เช่น โจรผู้ร้ายที่เที่ยวปล้นฆ่าคน ฉกชิงวิ่งราว ล้วงกระเป๋า สร้างปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น ซึ่งไม่ใช่การหาวิธีเป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะ ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมและทางศาสนา และตัวเขาเองเมื่อโดนตำรวจจับได้ ก็มีความผิด ติดคุก ติดตะรางไป ยิ่งทำความเดือดร้อนสร้างทุกข์ให้กับตนเองและครอบครัวยิ่งขึ้นไปอีก การคิดทำให้เกิดทุกข์ได้มากมาย และหากใครคิดไม่ดี ให้ร้ายคนอื่น หรือมีความอิจฉาริษยา ระแวง จะเป็นการนำไปสู่ความทุกข์ได้ทั้งนั้น