วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2551

การฝืนใจ

ในการเอาชนะใจตนเอง จะไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการฝืนใจ การหมั่นฝึกหัดในการฝืนใจตนเองนั้น ยังมีแยก ออกไปอีกคือ การฝืนใจแบบครั้งเดียวเลิกนิสัยไม่ดีไปเลย หรือการฝืนใจโดยวิธีแก้ทีละน้อยจนแก้ได้หมดเลย สำหรับคนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง อาจฝืนใจแก้ได้สำเร็จเด็ดขาดไปในครั้งเดียวแล้วเลิกไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่ดี จนไม่กลับมาทำอีกในภายหลัง แต่สำหรับคนที่ยังมีใจอ่อนแอและไม่ค่อยต่อสู้กับการดำเนินชีวิต ควรที่จะ ต้องแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป อาทิ การงดสูบบุหรี่ หรืองดเสพสุรา หรือยาเสพติดใด ๆ ก็ตาม เราต้องฝืนใจเป็นอย่างมาก มีทั้งผู้ที่ ทำสำเร็จและทำไม่สำเร็จ สิ่งเหล่านี้ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นโทษยิ่งกว่าให้คุณ แต่ก็หาคนฝืนใจเลิกได้น้อยมาก บางคนอาจใช้เวลาถึงครึ่งชีวิตกว่าจะเลิกสิ่งเสพติด และบางคนก็อาจพ่ายแพ้มาตลอดจนกระทั่งตายไป เพราะพิษร้ายของบุหรี่ สุรา อบายมุขอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่น คบเพื่อนชั่ว การเล่นการพนัน การเที่ยวกลางคืน การดูการละเล่น และความเกียจคร้าน เหล่านี้เป็นนิสัยที่ทำให้คุณธรรมในการดำรงชีวิตเสื่อมเสียไป การจะเอาชนะใจตนเองจนเลิกสิ่งเหล่านี้โดยเด็ดขาดย่อมเป็นการฝืนใจอย่างแรงมาก แต่ถ้าเราไม่ฝืนใจแก้ เสียแต่เนิ่น ๆ ยังประพฤติอยู่กับทางแห่งความชั่วนี้แล้ว ชีวิตของเรานับวันแต่จะตกต่ำ และต้องเป็นทาส มันไปตลอดชีวิต ความเกียจคร้านเป็นอบายมุขอย่างหนึ่งที่เราควรจะแก้ไข และการแก้นั้นก็ต้องใช้ความฝืนใจอย่างมาก ในระยะแรก ๆ แต่ถ้าแก้ไขได้แล้ว จะทำให้เราเป็นคนที่มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานเป็นอย่างยิ่งลำพัง การแก้ไขโดยการฝืนใจแล้วต้องใช้กุศโลบายอื่น ๆ อีก เช่น เห็นโทษของมัน โทษของความเกียจคร้าน เท่าที ่แลเห็นง่าย ๆ มีดังนี้ 1. ทำให้เวลาล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ 2. ทำให้การงานคั่งค้าง 3. เป็นคนรกโลก 4. เป็นคนที่ไม่มีใครเชื่อถือ 5 ได้รับความเดือดร้อน 6. ไม่ได้รับความเจริญก้าวหน้า 7. โทษอื่น ๆ อีก เช่น ทำให้สุขภาพเสีย ทำให้อ่อนแอ ทำให้ทรัพย์หมดไป ฯลฯ
มีพุทธสุภาษิตบทหนึ่ง สำหรับการเตือนให้รำลึกอยู่เสมอ คือ หมั่นคิดเนือง ๆ ว่า "วันคืน ล่วงไป ๆ เราทำอะไรอยู่" และอีกบทหนึ่งว่า "ใครจะประมาทก็ช่างเขา เราอย่าประมาท ใครจะหลับใหลก็ช่างเขา เราอย่าหลับใหล เราตื่นตัวอยู่เสมอ ผู้ที่ฉลาดในเรื่องนี้ ย่อมวิ่งขึ้นหน้าผู้อื่น เสมือนม้าฝีเท้าดีย่อมทิ้งม้า ฝีเท้าเลวไว้เบื้องหลัง" วิธีแก้อุปนิสัยเกียจคร้าน อ่อนแอ ท้อถอย ผัดวันประกันพรุ่ง มีดังนี้ 1. อย่าคบกับคนที่มีอุปนิสัยไม่ดีดังกล่าว เลือกคบกับคนที่มีความมานะ พยายาม บากบั่นในการทำงาน ดูการทำงานและการดำเนินชีวิตของเขา เลือกเอาแต่นิสัยดีที่มีอยู่ในตัวเขา นำมาประพฤติปฏิบัติ 2. เลือกอ่านหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญ จะเห็นว่าไม่มีคนสำคัญคนใดในประวัติศาสตร์ที่มีนิสัย เกียจคร้าน อ่อนแอ ท้อถอย หรือผัดวันประกันพรุ่ง 3. เลือกอ่านหนังสือประเภทปลุกใจ ให้เกิดความมานะพยายามและคิดสร้างอนาคต เราควรมีหนังสือ ประเภทนี้อยู่บนโต๊ะทำงาน เมื่อใดที่เกิดความเกียจคร้าน ท้อถอย อ่อนแอ ก็ให้หยิบมาอ่านทันที 4. เห็นโทษของความเกียจคร้าน เห็นโทษของความอ่อนแอ ท้อถอย และการผัดวันประกันพรุ่ง 5. ครั้งแรกก็ยังมีอุปนิสัยเหล่านี้อยู่ จงพยายามฝืนใจแก้นิสัยเหล่านี้ โดยลองเขียนถึงการงานที่จะทำในวันต่อไปไว้ในเศษกระดาษแผ่นหนึ่งก่อนนอน แล้วเมื่อตื่นขึ้นก็ฝืนใจ ทำตามที่เขียนไว้ 6. จัดตารางเวลาประจำวันในการทำหน้าที่และลองแก้ไขดูให้เหมาะสม ว่าในแต่ละชั่วโมงเราจะทำอะไร เป็นกิจวัตรบ้าง แต่อย่าหักโหมในระยะแรก ต้องให้มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง 7. พยายามจดจำคติ สุภาษิต ไว้เตือนตนเอง เช่น
พินิจนาฬิกา
บอกเวลาแสนซื่อตรง
เครื่องจักรพึงพิศวง
ทำหน้าที่ดีเหลือหลาย
เครื่องจักรในมนุษย์
ประเสริฐสุดทั้งใจกาย
เหตุใดไม่อับอาย
มัวเกียจคร้านงานไม่ทำฐะปะนีย์ นาครทรรพ 8. ถ้าสุดวิสัยที่แก้แล้วให้หาสาเหตุว่ามีอะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่อยากทำงาน ถ้าเกิดจากโรคบางอย่าง ก็ควรให้แพทย์ตรวจรักษาเสีย โรคบางอย่างทำให้ไม่อยากทำงาน เช่น โรคไขข้อรูมาติสม์ โรคประสาท บางประเภท ฯลฯ 9. ลองศึกษาคำสอนของศาสนาที่นับถืออยู่แล้วเลือกปฏิบัติดู พุทธศาสนาสอนให้แก้ไขตนเองหลาย ประการ เมื่อรสพระธรรมเข้าถึง จิตนิสัยที่ไม่ดีทั้งหลายก็จะค่อย ๆ ลดลง มิใช่แต่จะกำจัดนิสัยเกียจคร้าน ได้เพียงอย่างเดียว เท่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด สรุปได้ว่า การเอาชนะใจตนเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝืนใจตนเองให้พ้น จากความเกียจคร้าน อ่อนแอ ท้อถอย ผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งเป็นแนวทางอันดับแรกที่สำคัญสำหรับการ เอาชนะใจตนเองได้

ไม่มีความคิดเห็น: